08 Dec 2023
ผนึกกำลังไตรภาคี สร้างความแข็งแกร่ง เพื่อความยั่งยืน
ผนึกกำลังไตรภาคี สร้างความแข็งแกร่ง เพื่อความยั่งยืน
CG Movementum
link icon

เมื่อภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนร่วมมือกัน ผลักดันการป้องกันคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม ความหวังในการสร้างสังคมดีก็อาจไม่ได้อยู่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป


งาน CAC National Conference 2023 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ Public-Private Collaboration: A Strong Collective Action Against Corruption หรือ ผนึกกำลังไตรภาคี สร้างความแข็งแกร่ง เพื่อความยั่งยืน จัดขึ้นเพื่อมอบโล่รางวัล CAC Change Agent Award 2023 แก่บริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC และมีการชวนคู่ค้ามาเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ CAC ทั้งหมด 13 บริษัท และมอบใบประกาศนียบัตรให้กับบริษัทที่ผ่านการรับรองอีกกว่ากว่า 79 บริษัทด้วยกัน


แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) เป็นความมุ่งมั่นของภาคเอกชนไทยในการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน โดยมุ่งสร้างและขยายแนวร่วมในภาคเอกชนเพื่อให้เกิดกระแสต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ ไม่เพียงทำงานกับภาคเอกชนอย่างเดียวเท่านั้นแต่ยังเป็นพลังขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาครัฐด้วย


นอกจากการมอบโล่รางวัลและใบประกาศนียบัตรแล้ว งานนี้ยังมีเวทีเสวนาที่รวมเอาตัวแทนกำลังสำคัญทั้ง 3 ภาคส่วนอย่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น เล่าถึงการขับเคลื่อนในภาคส่วนของตน รวมไปถึงความคาดหวังในอนาคต


ภาพเสวนา



เล่าถึงการดำเนินการที่ผ่านมาของแต่ละภาคส่วน บทเรียนที่ได้รับ และแผนลำดับต่อไป

ดร. กุลภัทรา สิโรดม ประธานกรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และประธานกรรมการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทยได้เล่าถึงการดำเนินการที่ผ่านมาของภาคธุรกิจว่า มีการจัดลำดับความเสี่ยงกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจเกิดการทุจริต มีการจัดทำแบบประเมิน 71 ข้อสำหรับบริษัทขาดใหญ่ และ 17 ข้อสำหรับบริษัทขนาดเล็กในการใช้พัฒนาระบบต่อต้านคอร์รัปชันที่มีมาตรฐานและใช้ประกอบการเข้าขอรับรองจาก CAC สุดท้ายคือนโยบาย Whistle Blowing หรือการมีช่องทางแจ้งเบาะแสความผิดปกติ โดยองค์กรในภาคธุรกิจนำไปใช้และขยายนโยบายไปยังหน่วยต่าง ๆ ใน supply chain ของตน หน่วยงานที่เข้าร่วมจะถูกจัดเข้า preferred vendor list


พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่าให้ความสำคัญกับประชาชน เพราะประชาชนต้องได้รับความมั่นใจในการตอบสนองจากภาครฐ ต้องมั่นใจได้ว่าสิ่งที่แจ้งไปจะได้รับการพิจารณาและนำไปสู่การแก้ไขปัญหา แต่ความท้าทายในปัจจุบันคือผู้แจ้งเบาะแสมักจะถูกฟ้องร้องป.ป.ช.จึงผลักดันกฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก (Anti-SLAPP Law) เพื่อให้ผู้แจ้งเบาะแสได้รับการคุ้มครองและได้รับความช่วยเหลือในกรณีถูกฟ้องทั้งแพ่ง อาญาหรือแม้แต่การถูกดำเนินการทางวินัย ในส่วนของนิติบุคคลเมื่อเกิดคดีสินบนขึ้น หากมีหลักการพื้นฐาน 8 ประการสำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ภายใต้มาตรา 176 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 แล้วนั้นนิติบุคคลจะได้รับการยกเว้นโทษ และส่วนสุดท้ายที่กำลังจะถูกผลักดันคือกฎหมายชะลอคดีอาญาของนิติบุคคลในกรณีที่เกิดคดีทุจริตในองค์กรในวาระของผู้บริหารคนก่อน หากผู้บริหารหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวาระปัจจุบันให้ความร่วมมือหรือให้เบาะแส จะไม่ถูกดำเนินคดี


คุณวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เผยว่าภาคประชาชนมีความพยายามทั้งปลูกฝังค่านิยมต่อต้านทุจริต ป้องกัน และเปิดโปงการทุจริต เพื่อให้นำไปสู่การปราบปรามของภาครัฐ และนอกจากนี้ยังสร้างความตระหนักรู้อย่างสม่ำเสมอ มีการสร้างแพลทฟอร์มเพื่อเปิดเผยข้อมูลอย่าง ACT Ai สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแจ้งเบาะแส นำเสนอประเด็นน่าสงสัยผ่านเพจต้องแฉและปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน และการมีส่วนร่วมในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และตระหนักดีว่าความร่วมมือคือสิ่งสำคัญจึงได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือในภาคส่วนต่าง ๆ กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย (THAI CG Fund) และ CAC ก็นับเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในด้านความร่วมมือ ตลอดจนผลักดัน เสนอแนะกฎหมายและแนวปฏิบัติ


จุดใดที่จะช่วยกระชับความร่วมมือจากทั้ง 3 ภาคส่วนได้

พล.ต.อ.วัชรพลมองว่าภาครัฐต้องเริ่มจากระดับบริหารสูงสุดให้ชัดเจน (tone from the top) และลงมือทำให้เกิดผลขึ้นจริง ป.ป.ช.พร้อมให้การสนับสนุนด้วยข้อมูล อีกทั้งยังรอฟังหรือนโยบายจากนายกรัฐมนตรีในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากลซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2566 นี้ด้วย และได้ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า ประชาชนตื่นตัวแล้วไม่ยอมนิ่งเฉยอีกต่อไป พลังของผู้คนคือสิ่งสำคัญ และพลังนั้นได้มากจากการรับข้อมูลข่าวสาร


สิ่งที่อยากฝากทิ้งท้ายเอาไว้

ในฐานะตัวแทนจากภาคประชาชนคุณวิเชียรได้ตอกย้ำว่าประชาชนยังคงมีความคาดหวังให้ภาคธุรกิจลงมือทำด้วยกันอย่างเร่งด่วนในประเด็นหลัก ๆ อย่างการไม่รับหรือให้สินบน การไม่ฮั้วประมูล และการจัดซื้อจัดจ้างภายในอย่างโปร่งใส ที่สำคัญคืออยากให้การปราศจากทุจริตเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจด้วย

ด้านภาคเอกชนอย่างดร. กุลภัทรา มุ่งไปที่การมีต้นแบบที่ดีของประเทศ การมีบทลงโทษที่รุนแรงและรวดเร็วแก่ผู้กระทำผิด และ CAC พร้อมเป็นกระบอกเสียงในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน

และพล.ต.อ.วัชรพลปิดท้ายว่า เจตจำนงทางการเมือง (Political will) ต้องสกัดกั้นไม่ให้เกิดการทุจริตตั้งแต่ระดับนโยบาย และไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย


การเสวนาในครั้งนี้แสดงถึงความพยายามและมุ่งมั่นในการต่อต้านคอร์รัปชันจากทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ต่างฝ่ายต่างก็เห็นความสำคัญของกันและกัน สนับสนุนกันและกัน รวมไปถึงมีแผนกระชับความร่วมมือในการดำเนินการระหว่างกัน เพราะต่างก็ตระหนักดีว่านี่คือหน้าที่ของเราทุกคน


ติดตามความเคลื่อนไหวของแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) ได้ที่ Thai-CAC

และติดตามข่าวสารของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ที่ สำนักงาน ป.ป.ช.



AUTHOR
THAI CG FUND
THAI CG FUND
ส่งเสริมธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชันอย่างทันสมัย
PHOTOGRAPHER
THAI CG FUND
THAI CG FUND
สร้างพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ผ่านทุนสนับสนุนและเครือข่ายการทำงาน