เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวพัฒน์ ได้จัดกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการ ภายใต้แนวคิด “ก้าวสู่โลกยุคใหม่ด้วยหัวใจซื่อสัตย์” (Shaping the landscape with moral and ethics) ณ โรงแรมเซ็นทาราไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนของการพัฒนาคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริตในสถานศึกษา โดยการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย (THAI CG Fund) โดยในงานมีทั้งการเปิดให้เยาวชนได้มีพื้นที่ส่งเสียงสะท้อนมุมมองต่อความสำคัญของความซื่อสัตย์อย่างช่วง Youth Talk การมอบโล่รางวัล เกียรติบัตร และทุนการศึกษา มีเวทีเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญ และยังมีห้องย่อยถึง 5 ห้องที่มีความน่าสนใจแตกต่างกันออกไป ได้แก่
ห้องที่ 1 Youth Talk “เมล็ดพันธุ์ใหม่ หัวใจซื่อสัตย์” และการนําเสนอคลิปวิดีโอ “เยาวชนคนกล้า ต่อต้านทุจริต”
ห้องที่ 2 ถอดบทเรียนการพัฒนาคุณธรรมความซื่อสัตย์เหล่าโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศ!
ห้องที่ 3 การนําเสนอกลไกสําคัญที่จะช่วยให้การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษาประสบความสําเร็จได้อย่างยั่งยืน
ห้องที่ 4 การนําเสนอเครื่องมือร้อยพลังการศึกษา
และห้องที่ 5 การลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ
สถานศึกษาต้นแบบคุณธรรม 30 แห่งของโรงเรียนปลายทางนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1
กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมฟัง 1 ใน 5 ห้องย่อยที่เรียกได้ว่าน่าประทับใจ มีความหลากหลายของไอเดีย และเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจของผู้จัดทำอย่างถึงที่สุด นั่นก็คือห้องย่อยที่ 2 การถอดบทเรียนการพัฒนาคุณธรรมความซื่อสัตย์ของสถานศึกษาจากตัวแทนโรงเรียนกว่า 7 แห่งนั่นเอง ซึ่งตลอดการบอกเล่าเรื่องราวโครงงานที่พวกเขาได้ทำเพื่อเป็นการยกระดับการสอดแทรกคุณธรรมความซื่อสัตย์สู่สถานศึกษานั้น เปี่ยมไปด้วยสีสันและเทคนิคการเล่าเรื่องที่แสนแพรวพราวจากเหล่าเยาวชนที่น่าประทับใจ มีทั้งการแสดงบทบาทสมมติและบอกเล่าด้วยกลอน หรือแม้กระทั่งการนำเอาผลงานที่เกิดขึ้นจริงจากการทำโครงงานมาให้ผู้ฟังได้ลิ้มรสแล้วเฉลยในภายหลังจนเรียกเสียงชมได้อย่างไม่ขาดสาย
นอกจากเทคนิคการนำเสนอที่น่าประทับใจแล้ว รูปแบบโครงงานที่ทั้ง 7 โรงเรียนได้ทำก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะมีทั้งการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการทำละครจากโรงเรียนกำแพงแสนวิทยา ที่นักเรียนจะได้เรียนรู้เรื่องของความซื่อสัตย์ต่อผู้ชม และเรียนรู้เรื่องคุณธรรมผ่านเนื้อหาของละครที่ตนแสดงไปด้วยในตัว การตั้งศูนย์เพื่อนเตือนเพื่อนที่เป็นหนึ่งในกระบวนการแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนภายใต้โครงงาน Stop bullying อย่านะ อย่าแกล้งกัน ของคณะกรรมการนักเรียนจากโรงเรียนเก้าเลี้ยววิทยา และยังมีโครงงานของโรงเรียนภัทรญาณวิทยา ที่มีความท้าทายเนื่องจากมีนักเรียนที่เป็นเด็กพิเศษเรียนรวมด้วย ดังนั้นครูผู้จัดทำโครงงานจึงตั้งใจใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์มาประยุกต์เข้าด้วยกันเพื่อให้การเรียนรู้ของนักเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะนักเรียนอาจเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ไม่ง่ายนัก โดยครูได้นำเอาทฤษฎีของอัลเบิร์ต แบนดูรา (Albert Bandura) มาใช้ในการออกแบบการเรียนรู้ด้วย
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ โครงงานส่วนใหญ่เริ่มต้นจากตัวเยาวชนเอง กล่าวคือ พวกเขาเห็นปัญหาและมีความตั้งใจที่จะแก้ไข ไม่นิ่งเฉยและไม่มองว่าเป็นเรื่องปกติที่ควรปล่อยผ่านจึงได้ร่วมกันลงมือทำและได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีทั้งจากครูและโรงเรียนจนก่อให้เกิดเป็นโครงงานเหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีว่าต่อจากนี้เราจะเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคตที่จะร่วมสร้างสังคมดีต่อไปอีกนับร้อยนับพันคน
ขอขอบคุณรูปจาก โรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวพัฒน์