22 Aug 2023
‘เด็กเส้น’ เท่ากับ ‘โกง’ จริงไหม?
‘เด็กเส้น’ เท่ากับ ‘โกง’ จริงไหม?
Governance in your life
link icon

Connection หรือ Corruption เป็น ‘เด็กเส้น’ เท่ากับ ‘โกง’ จริงไหม?


ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกธุรกิจทุกวันนี้ต่างขับเคลื่อนด้วยสิ่งที่เรียกว่า “คอนเน็กชัน (Connection)” ที่ช่วยให้การติดต่อ สื่อสาร และการตกลงงานราบรื่นขึ้น


ลองจินตนาการว่าคุณเป็นผู้บริหารบริษัทแห่งหนึ่ง แล้วมีคนมาสมัครเป็นพนักงานในบริษัทของคุณในตำแหน่งเดียวกันพร้อมกัน 2 คน สมมติว่าทั้งสองคนนี้มีโปรไฟล์ที่น่าสนใจและมีคุณสมบัติที่เหมาะสมทั้งคู่ แต่มีสิ่งที่ต่างกันคือ คนแรกเป็นรุ่นน้องที่คุณรู้จักดีอยู่แล้ว เคยทำงานร่วมกันหลายครั้งและนิสัยเข้ากับคุณเป็นอย่างดี ส่วนอีกคนเป็นคนที่คุณไม่รู้จักมาก่อน ไม่เคยทำงานร่วมกัน และไม่รู้ว่านิสัยใจคอจะสามารถร่วมงานกันได้หรือไม่ เชื่อได้เลยว่าหลาย ๆ คนต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้คงเลือกที่จะ Play safe เลือกผู้สมัครคนแรกเข้าทำงาน นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “คอนเน็กชัน” หรือภาษาชาวบ้านที่เราเรียกกันว่า “เด็กเส้น” นั่นเอง


corruption


Connection = Corruption?


ถ้ามองในมุมธุรกิจ คอนเน็กชันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อนักธุรกิจและสามารถช่วยให้กิจการดำเนินไปได้อย่างสะดวกมากขึ้น แต่บางครั้งคำว่าคอนเน็กชันก็ถูกมองว่าเป็นความไม่ยุติธรรม เป็นการใช้สายสัมพันธ์ทำให้ได้เปรียบ หรือเป็นการโกง จนทำให้คำว่าคอนเน็กชันถูกเข้าใจสับสนกับคำว่า “คอร์รัปชัน (Corruption)” แต่ถ้าเราพิจารณาดี ๆ คอนเน็กชันไม่ใช่ผลประโยชน์ที่ได้มาฟรี อย่างตัวอย่างสถานการณ์ข้างบน แม้ว่าคุณกับรุ่นน้องจะสนิทกันมากเพียงใด แต่ถ้าหากรุ่นน้องของคุณไม่มีความสามารถมากพอที่จะทำงานให้คุณได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณก็คงเลือกผู้สมัครอีกคนมาทำงานให้กับองค์กรของคุณแทน เพราะสุดท้ายแล้วคุณต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่าการรักษาน้ำใจรุ่นน้อง ดังนั้นคอนเน็กชันจึงเป็นการใช้ความสามารถสร้างประโยชน์ร่วมกัน เป็นการได้ผลประโยชน์แบบ Win-Win และยังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย


“มีคอนเน็กชันก็ต้องมีความสามารถด้วย มิเช่นนั้นคอนเน็กชันก็ไร้ประโยชน์”



แล้ว Connection ต่างจาก Corruption อย่างไร?


คำว่า “คอร์รัปชัน” มีความหมายต่างจากคำว่า “คอนเน็กชัน” โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภาให้ความหมายของคำว่า “คอร์รัปชัน” ตรงกับคำว่าโกง และทุจริต อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นว่า “คอร์รัปชัน” มักใช้ในบริบทที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ใช้อำนาจให้ได้มาเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน เช่น นาย A ข้าราชการระดับสูง เรียกรับเงินจากนาย B แลกกับการให้นาย B เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นโดยไม่ต้องประเมินความสามารถ ผลเสียที่เกิดคือองค์กรรัฐไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนนาย A เองก็เอาอำนาจรัฐที่มาจากภาษีของประชาชนไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งมีโทษตามกฎหมาย และประชาชนคือคนที่เสียผลประโยชน์


คอนเน็กชัน ≠ คอร์รัปชัน

แต่คอนเน็กชันก็สามารถนำไปสู่การคอร์รัปชันได้ จากสถิติจาก ป.ป.ช. พบว่าเราเสียงบประมาณรัฐไปกับการคอร์รัปชันมากถึง 7,686 ล้านบาทในปี 2562 ซึ่งเป็นรูปแบบที่สร้างความเสียหายมากที่สุดคือการจัดซื้อจัดจ้าง ที่สำคัญคือคดีคอร์รัปชันส่วนใหญ่มักมาจากการใช้คอนเน็กชัน หรือเครือข่ายของคนที่เป็นญาติ เป็นคนรู้จัก หรือเพื่อน เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่ผิดกฎหมาย คอนเน็กชันจึงเป็นเหมือนจุดสำคัญที่สามารถนำไปสู่การตรวจสอบคอร์รัปชันได้



sebastian-herrmann-O2o1hzDA7iE-unsplash.jpg


THAI CG Fund ชวนรู้จักกับ “Data analysis Dashboard”

หนึ่งในโครงการในกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย ที่พัฒนาแพลตฟอร์มในการตรวจสอบการคอร์รัปชัน ผ่านการตรวจสอบคอนเน็กชันหรือเครือข่ายญาติพี่น้อง โดยเครื่องมือจะช่วยวิเคราะห์ความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงไปยังโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และส่วนที่ภาครัฐและเอกชนมีส่วนเกี่ยวข้อง และนำเสนอข้อมูลในรูปแบบ Data Visualization หรือภาพแผนภูมิเครือข่ายแสดงความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลจากนามสกุล ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปใช้ได้ง่าย


จากนั้น จะนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ความเชื่อมโยงขยายไปถึงบุคคล หน่วยงาน และภาคธุรกิจ เพื่อสนับสนุนให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ข้อมูล และหน่วยงานมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เช่น สื่อมวลชน และพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความเสี่ยงทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มาจากความสัมพันธ์และเครือข่ายของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชัน


carlos-muza-hpjSkU2UYSU-unsplash.jpg


ตอนนี้โครงการ Data analysis Dashboard ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะเปิดใช้งานให้ใช้ในรูปแบบสาธารณะได้ในเดือนกันยายนปีนี้บนเว็บไซต์ actai.co ที่มีเครื่องมือการตรวจสอบคอร์รัปชันให้เลือกใช้มากมาย


ในอนาคต Data analysis Dashboard จะกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างพื้นที่ให้ประชาชนทุกคนร่วมกันตรวจสอบคอรร์รัปชันได้ และทำให้ปัญหาเครือข่ายคอร์รัปชันลดลง อีกทั้งคำว่าคอนเน็กชันที่ถูกมองในแง่ลบก็อาจลดลงตามไปด้วย


AUTHOR
Surawat (Sun)
Surawat (Sun)
นักเขียนและนักอ่านคอมมิคตัวยง อยากใช้งานเขียนตัวเองสร้างสรรค์โลกที่มีธรรมาภิบาล และเชื่อว่าวันหนึ่งเราจะมีประเทศที่คอร์รัปชันเกิดขึ้นยาก
PHOTOGRAPHER
THAI CG FUND
THAI CG FUND
สร้างพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ผ่านทุนสนับสนุนและเครือข่ายการทำงาน