23 Aug 2023
'ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ' เมื่อการกลับบ้านคนเดียวไม่มีความปลอดภัย
'ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ' เมื่อการกลับบ้านคนเดียวไม่มีความปลอดภัย
Everyone is an active citizen
link icon

เมื่อสามชั่วโมงที่ผ่านมามีผู้หญิงหนึ่งคนตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรม และอีกสามชั่วโมงข้างหน้ากำลังจะมีผู้หญิงอีกหนึ่งคนตกเป็นเหยื่อด้วยเช่นกัน และในทุก ๆ สามชั่วโมงก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ หากเราลองเทียบสถิติจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ที่บอกว่า


ในหนึ่งวันจะมีผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางเพศและความรุนแรงไม่ต่ำกว่า 7 คน ซึ่งในหนึ่งปีจะมีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไม่ต่ำกว่า 2,500 คน “ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” จึงเป็นประโยคที่เราเชื่อว่าหลาย ๆ คน เคยพูดกับคนที่ห่วงใย


ชวนคุยกับ “ต้า” พิมพิศา เกือบรัมย์ นักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าของโพรเจกต์ “ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” เกม Interactive บนเว็บไซต์ ที่ชวนให้ผู้เล่นได้สวมบทบาทเป็นหญิงสาวที่ต้องกลับบ้านช่วงเวลาดึกเพียงลำพัง และต้องตัดสินใจในแต่ละเหตุการณ์ที่เจอเพื่อเอาตัวรอดจากอาชญากรรมและการถูกคุกคาม


361956846_244024191897196_3376900085106029895_n.jpg

คุยกับต้าเรื่องการพัฒนาเกม


ต้าเล่าให้เราฟังว่าจุดเริ่มก่อนจะมาเป็นโพรเจกต์เกม “ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” มาจากในช่วงที่ทำธีสิสได้เห็นข่าวอาชญากรรมจากการเดินทาง และความไม่ปลอดภัยใกล้ตัว บวกกับตัวเองเป็นคนสนใจเรื่องเกมมาก่อนอยู่แล้ว โดยเฉพาะเกมที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับ Butterfly Effect (การกระทำเล็กน้อยบางอย่างที่ส่งผลต่อเหตุการณ์ที่แตกต่างกันออกไป) อย่างเกม Detroit : Become Human หรือ Until Dawn ความสนใจทั้งสองจึงจับคู่กันมาเป็นเกมนี้


“เรารู้สึกว่ามันน่าติดตามด้วย ภายในเรื่องที่มันจบได้หลายแบบมันทำให้เราอยากค้นหาว่าเนื้อเรื่องมันสามารถจบแบบไหนได้บ้าง และถ้าเราดัดแปลงมาเป็นเรื่องของสื่อที่มันเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ พอมีตอนจบเยอะคนก็ยิ่งสนใจแบบ เฮ้ย ! ถ้าเกิดว่าเราตัดสินใจทำแบบนี้ในสถานการณ์นั้นแทนล่ะ มันจะเกิดอะไรขึ้นมาได้บ้าง ก็เลยลองทำเป็นรูปแบบนี้ดู”


หนึ่งในความน่าสนใจของ “ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” คือระบบ Quick Time Event ที่คอยกดดันผู้เล่นให้เลือกทางเลือกในเวลาที่กำหนด ซึ่งก็เป็นหนึ่งในฟีเจอร์ของเกมที่ต้าชอบเพราะรู้ว่านี่จะทำให้ผู้เล่นตื่นเต้นกับเกมมากขึ้น แต่นอกจากนี้ระบบ Quick Time Event ยังมีนัยที่สื่อสารกับตัวผู้เล่น


“ในสถานการณ์จริงมันไม่ได้มีตัวเคานต์ดาวน์บอกเวลาแบบนี้ การที่เราจะต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่างเราต้องตัดสินใจโดยทันที เพราะมันอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่เราคาดไม่ถึงขึ้นได้ เราก็เลยใช้ตัวจับเวลานี้มาเป็นแรงกดดันค่ะ ว่าอันนี้คุณต้องรีบตัดสินใจนะ ถ้าเกิดว่าคุณไม่ได้ตัดสินใจหรือตัดสินใจช้ามันอาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นได้”


อย่างไรก็ตามโพรเจกต์นี้เป็นธีสิสจบซึ่งมีเวลาจำกัด ต้าเองก็มองว่าหากมีเวลาเพิ่ม เกมยังสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีก อย่างการเพิ่มฟีเจอร์ต่าง ๆ “จริง ๆ เราอยากทำเส้นทางเพิ่มขึ้นอีก เพราะเรารู้สึกว่าในการกลับบ้าน มันมีวิธีที่มากกว่านี้อีกหรือว่ามันมีเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นหลาย ๆ อย่าง แล้วก็อยากจะใส่พวก Fact ใส่เปอร์เซ็นต์ว่าวิธีการเอาตัวรอดจากวิธีนี้มันมีกี่เปอร์เซ็นต์ รวมถึงข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงทางวิชาการลงไปด้วย แต่ด้วยเวลาที่ทำโพรเจกต์อันนี้มันน้อยค่ะ” ต้าพูด


363817366_244024401897175_7804798513367218442_n.jpg


ความปลอดภัยของผู้หญิงในสังคมไทย


หลังจากชวนคุยเรื่องการพัฒนาเกม เราได้ชวนต้าพูดคุยเรื่องปัญหาอาชญากรรมต่อผู้หญิงซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ตัวเกมได้สื่อสารออกมา เหตุผลหลักที่ต้าอยากทำประเด็นนี้เพราะอยากให้คนในสังคมเข้าใจคนที่เป็น “เหยื่อ” จากอาชญากรรมมากขึ้น


“เราเจอข่าวเหตุการณ์ผู้หญิงถูกคุกคามไม่ว่าจะรูปแบบไหน ก็รู้สึกว่ามันจะมีคนบางกลุ่มที่ไม่เข้าใจ พวกเขา พยายามโทษเหยื่อ (Victim Blaming) ด้วยการคอมเมนต์ว่า คุณเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงเอง คุณแต่งตัวโป๊หรือเปล่า คุณไปยอมเขาหรือเปล่า ทำไมคุณไม่ปฏิเสธ แต่เราคิดว่าเหตุผลแท้จริงของการถูกคุกคามมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเอง แต่มันขึ้นอยู่กับคนที่เขามาคุกคามเรา เราไม่สามารถควบคุมอะไรคนที่เขาคุกคามได้ แม้ว่าจะระมัดระวังตัวดีพอแล้วสุด ๆ สุดท้ายแล้วเราก็ยังมีโอกาสโดนคุกคามอยู่ดี”


“เราก็เลยอยากจะสร้างสื่ออะไรสักอย่างที่ทำให้เหมือนกับว่าจำลองให้คนได้เข้าไปเห็นสถานการณ์ในจุด ๆ นั้น ให้เขาไปรู้ถึงความรู้สึกในจุดนั้นว่าคุณต้องระวังตัวสุด ๆ ทั้งที่คุณไม่ได้แต่งตัวโป๊ แต่คุณก็มีโอกาสถูกคุกคามอยู่ดี ไหน ๆ เราบอกกับเขาแล้วไม่เข้าใจ ก็ลองเอาเขาเข้ามาอยู่ในสถานการณ์นั้นเลย เขาจะได้เข้าใจมากขึ้น”


นอกจากนี้ในระหว่างที่ต้าพัฒนาเกมก็ได้ทำการค้นคว้าข้อมูลซึ่งเจอเคสที่น่าสนใจอย่างเช่น การเอาตัวรอดด้วยวิธีที่คาดไม่ถึงด้วยการรำ ทำให้คนที่มาคุกคามกลัวจนหนีไป แต่ในขณะเดียวกันก็เจอเคสที่ทำให้รู้สึกแย่ด้วยเช่นกัน


“ระหว่างที่เราอ่านข่าวเพื่อหาข้อมูล เราก็เจอกรณีคนต่างด้าวที่เค้าไม่รู้ภาษาก็โดนหลอก ขนาดผู้หญิงท้องยังถูกคุกคามได้เลย หรือบางครั้งที่เราปฏิเสธไปแล้วหลายทีแต่เขาก็ยังตามตื๊อ จนสุดท้ายต้องอ้างว่าเรามีแฟนเป็นตำรวจหรือคนมีอำนาจนะ เขาถึงจะหยุดคุกคาม แต่ทำไมเราต้องอ้างถึงคนอื่นเพื่อให้รู้สึกปลอดภัยด้วยล่ะ” ต้าพูด


อย่างไรก็ตาม ต้ามองว่าที่หลายคนยังไม่เข้าใจปัญหานี้เพราะยังขาดความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) จึงยังไม่เข้าใจว่าสถานการณ์จริงบางครั้งก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งหากหาหนทางแก้ปัญหา ต้ามองว่า Keyword สำคัญคือการ “การเคารพสิทธิ์”


“เรารู้สึกว่าเหตุการณ์มันเกิดขึ้นเพราะคนทำไม่รู้จักเคารพสิทธิ์ของคนอื่น สิทธิ์ง่าย ๆ เลยอย่างเช่นสิทธิ์ของการแต่งตัว สิทธิ์ที่เขาจะใช้ชีวิตของเขา แต่คนก่อเหตุใช้เป็นข้ออ้างว่าเป็นเพราะเหยื่อแต่งตัวยั่วยวนบ้าง เพราะเหยื่อกลับบ้านคนเดียวบ้าง ถ้าเกิดว่าพวกเขาเคารพสิทธิ์ว่าเหยื่อเองก็มีชีวิต เขาจะแต่งตัวแบบนี้เขาก็มีสิทธิ์ที่จะทำ มันก็น่าจะทำให้ปัญหาเหล่านี้มันลดลงไปได้ ซึ่งไอ้ปัญหาที่ว่าเราพูดถึงเนี่ยมันไม่ได้เป็นแค่เรื่องที่แบบโดนฉุดหรือโดนปล้น แต่รวมถึงการพูดจาแซวหรือเอาไปนินทาก็เกี่ยวข้องทั้งนั้น และนอกจากนั้นคนในสังคมเองก็ต้องเคารพสิทธิ์ของเหยื่อ ไม่ใช่ว่าคุณจะไปโทษเขาได้”


363804102_244023891897226_8545595869360505354_n.jpg


ความสำเร็จ


“จริง ๆ ก็คิดว่าด้วยความที่มันเป็นประเด็นสังคม แล้วเราอยากจะสื่อสารให้สังคมรับรู้เกี่ยวกับปัญหานี้ก็คิดว่าอย่างน้อยก็ต้องมีคนสนใจบ้างแหละ หรือว่าทำอะไรสักอย่างให้เกิดขึ้นในสังคมแต่ว่าก็ไม่ได้คิดเหมือนกันว่าจะเป็นกระแสมากขนาดนั้นนะคะ เกินกว่าที่เราคิดนะ เกินไปนิดนึง (หัวเราะ)” ต้าพูด


“ถ้าถามว่าสำเร็จไหม มันก็บรรลุวัตถุประสงค์ที่เราได้ทำไปแล้ว คือเราอยากจะทำให้มันเกิดผลกระทบอะไรสักอย่างกับสังคม อย่างน้อยให้สังคมดึงประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัยนี้ขึ้นมาพูดถึง เราไม่ได้คาดหวังว่าเราปล่อยเกมนี้ปุ๊บแล้วทุกคนจะปลอดภัย อาชญากรรมมันจะหายไป แต่เราแค่อยากให้มันถูกหยิบมาพูดถึง ให้มีคนเริ่มนึกถึงความปลอดภัยตรงนี้มากขึ้น ทำให้คนอื่นเริ่มที่เข้าใจปัญหาอาชญากรรม”


ทำไมต้องเป็นผู้หญิง ? เป็นหนึ่งในคำวิจารณ์ที่ถามถึงต้า ซึ่งต้าได้เล่าให้ฟังว่าจริง ๆ แล้วต้าเองก็เห็นด้วยว่าอาชญากรรมเกิดขึ้นได้กับทุกเพศจริง ๆ เพียงแต่ว่าที่หยิบเกมนี้มา เพราะอาชญากรรมส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับผู้หญิง และตัวต้าเองก็คิดว่า ถ้ามีโอกาสก็อยากจะพัฒนาเกมในส่วนนี้ต่อไป


“จริง ๆ ปัญหาความปลอดภัยเนี่ยมันไม่ได้มีแค่เพศหญิงมันยังมีเพศอื่นอีก มันยังมีประเด็นความปลอดภัยที่เรายังไม่ได้พูดถึง เช่น โรคจิตบนรถสาธารณะอะไรอย่างเงี้ย หรือปัญหาของคนที่อยู่บ้านคนเดียวต้องคอยระมัดระวังตัว และนอกจากนี้ยังมีปัญหาความปลอดภัยรูปแบบอื่น เช่น ความปลอดภัยในแต่ละช่วงวัย ความรุนแรงในครอบครัว การบุลลี มันมีประเด็นให้หยิบมาเล่นเยอะมากเลย ซึ่งตอนนี้เรายังโฟกัสที่ปัญหาความปลอดภัยอยู่” ต้าพูด


สิ่งที่ต้าอยากฝากถึงสังคมคือประเด็นที่เป็นจุดตั้งต้นของการสร้างเกมนี้ขึ้นมา ต้าไม่อยากให้ประเด็นเรื่องของความไม่ปลอดภัยถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ (Normalize) ซึ่งท้ายที่สุดหากเอาแต่โทษเหยื่อ (Victim Blaming) หรือคนที่ถูกกระทำ มันก็อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ “ถ้าจะให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างมันอาจต้องเกิดขึ้นจากสังคมเริ่มจากสิ่งง่าย ๆ ก่อนเลย ก็คือเลิกโทษเหยื่อ (Victim Blaming) คนทำผิดก็ไปโทษคนที่ทำ การโทษเหยื่อเป็นเหมือนการให้ท้ายคนที่ทำผิดหรือคนที่คิดจะทำผิด เหมือนมันทำให้พวกเขารู้สึกว่าพวกเขามีพวก พวกเขามีสิทธิ์ที่จะทำ เหมือนมันเป็นการสนับสนุนทางอ้อม แต่ว่าบางคนก็อาจจะคาดไม่ถึงในจุด ๆ นี้”


จากนักศึกษามัณฑนศิลป์ที่นำความชอบมาจับกับประเด็นสังคมที่สนใจ เกิดเป็นเกม “ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” ที่คุ้นหูใครหลายคน และอยากให้เกมของตัวเองจะช่วยลดปัญหาอาชญากรรมได้บ้าง ซึ่งท้ายที่สุดสิ่งที่ต้าอยากสื่อสาร ทั้งเรื่องของการระมัดระวังความเห็นที่อาจเป็นการโทษเหยื่อ (Victim Blaming) และให้ท้ายอาชญากร หรือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) ก็เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของคนในสังคม หากทุกคนตระหนักถึงบทบาทในหน้าที่ และผลที่ตามมาของความเห็นเพื่อไม่ทำให้ปัญหาสังคมกลายเป็นเรื่องปกติ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยลดปัญหาอาชญากรรมในอนาคต อย่างที่ต้าได้บอกกับเราก็ได้


ทดลองเล่นได้ที่

https://gethomesafe.newfile.studio


AUTHOR
Surawat (Sun)
Surawat (Sun)
ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่ทำให้โลกพัฒนาและเปลี่ยนแปลงมาจนถึงทุกวันนี้ และเราเชื่อว่างานเขียนจะเป็นพลังขับเคลื่อน เพื่อสร้างโลกที่มีธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และประเทศที่ปราศจากคอร์รัปชัน
PHOTOGRAPHER
Panuwath (Com)
Panuwath (Com)
นักวาดภาพประกอบตัวจิ๋ว ที่อยากให้ผลงานคอยโอบกอดทุกคนที่กำลังรู้สึกอ่อนแอไม่ว่าจากอะไรก็ตาม และหวังว่าสักวันโลกที่เราอยู่จะน่าอยู่กว่าเดิม