ยุคนี้ใคร ๆ ก็เป็น Active citizen เพราะแน่นอนว่าเด็ก Gen Z อย่างเราใส่ใจสังคมพอ ๆ กับเรื่องความรัก ของกิน หรือท่องเที่ยว เพราะไลฟ์สไตล์อย่างเดียวมันไม่พอ ชีวิตมันต้องมี Passion กับปัญหาสังคมไปด้วย
THAI CG Fund จึงอยากลองชวนทุกคนมาทำ Checklist กันดูว่าประเด็นสังคมเรื่องไหนที่เราให้ความสนใจและอยากเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหามากที่สุด...มาเช็กกันดีกว่าว่าเราเป็น Active citizen สายไหนกันแน่ ?
***หมายเหตุ ในแต่ละประเด็นมีเนื้อหาค่อนข้างกว้างจนไม่สามารถครอบคลุมทั้งหมดได้ Checklist นี้เป็นเพียงการชวนเล่นเพื่อความสนุกและทบทวนความสนใจในประเด็นของผู้เล่นเท่านั้น
คุณอาจจะเคยเห็นเทรนด์ “สายเขียว” หรือแคมเปญลดโลกร้อนมามากมายทั้ง zero waste, ลดใช้ถุงพลาสติก, ปลูกต้นไม้ หรือลดการผลิตคาร์บอน แต่รู้ไหมว่าจริง ๆ แล้วการกลายเป็น Active citizen สายอีโค หรือสายรักษ์สิ่งแวดล้อมสามารถเริ่มได้จากสิ่งง่าย ๆ ใกล้ ๆ ตัว มาดูกันดีกว่าว่า Active citizen สายนี้เขาเริ่มต้นรักษ์โลกด้วยวิธีไหนได้บ้าง
ปิดน้ำปิดไฟ เปิดใช้เท่าที่จำเป็น
เรื่องใกล้ตัวที่ง่ายที่สุดในการช่วยโลกคือปิดน้ำปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน เชื่อหรือไม่ว่าหากเราช่วยกันปิดน้ำปิดไฟอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง จะสามารถประหยัดน้ำประหยัดไฟได้เยอะมาก และนอกจากจะได้ช่วยโลกแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้หลายบาทอีกด้วย
แยกก่อนทิ้ง
การแยกขยะช่วยให้ “ขยะ” กลับมามีประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และง่ายต่อการนำมาผลิตซ้ำได้ แถมยังแยกขยะอันตรายเพื่อช่วยลดสารเคมีที่อาจปนเปื้อนในแหล่งน้ำหรือดินด้วย
ตระหนักคิด ก่อนหยิบซื้อ
สินค้าในปัจจุบันมีทั้งสิ่ง “ดี” และ “ไม่ดี” ต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าบางอย่างก็อาจจะต้องพิจารณาก่อนว่าจำเป็นจริง ๆ หรือไม่ วัสดุมีกระบวนการผลิตอย่างไร หลังใช้แล้วมีกระบวนการกำจัดอย่างไร เช่น เสื้อผ้าที่เป็น Fast Fashion ช้อนส้อมพลาสติก ถุงพลาสติก เป็นต้น
บริโภคเท่าที่จำเป็น
การบริโภคอาหารเกินความจำเป็นอาจนำไปสู่ปัญหา “ขยะอาหาร” (Food waste) ซึ่งจะสร้างก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น กรณีร้านขนมชื่อดังในสหรัฐอเมริกาที่จำเป็นต้องทิ้งขนมที่ขายไม่หมดหลายชิ้นต่อวัน ซึ่งนำไปสู่ข้อวิจารณ์ตามมาว่ากลไกธุรกิจอาหารที่ตั้งอยู่บนวัฒนธรรมบริโภคนิยม (Mass consumption) เช่นนี้ อาจนำไปสู่ปัญหาขยะอาหารที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและยากจะแก้ไขได้
สนับสนุนนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมมากมาย เช่น แก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก จัดการสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน การจัดการขยะ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ Active citizen ที่ต้องจับตา และติดตามเพื่อให้นโยบายเกิดให้จริง
ในอดีตผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกดูแคลน ผู้หญิงถูกตีกรอบ หรือผู้ชายอาจถูกคาดหวังด้วยอคติทางเพศ แม้ในปัจจุบันสังคมเริ่มยอมรับและเข้าใจ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้นการผลักดันเรื่องเพศไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิหรือความเป็นธรรมยังคงต้องการแรงขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมอย่างแท้จริง
สนับสนุนกฎหมายความเสมอภาคทางเพศ
เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่รองรับการจดทะเบียนระหว่างกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ทำให้คู่รักเพศเดียวกันไม่สามารถทำนิติกรรมครอบครัวหลาย ๆ เรื่องได้ เช่น การรับเลี้ยงลูกบุญธรรมไม่ได้ การจัดการมรดก และการเข้าถึงสิทธิหลาย ๆ อย่าง ต่างจากคู่รัก “ชาย-หญิง” ที่มีกฎหมายรองรับ
ตระหนักรู้ความเป็นมนุษย์มากกว่าข้อจำกัดทางเพศ
การเป็น Active citizen ที่สนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศเริ่มต้นจากพื้นฐานง่าย ๆ ด้วยการตระหนักรู้ว่าไม่ว่าเพศใดก็เป็นมนุษย์ที่มีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน การเรียกร้องทางเพศจึงไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อยกระดับเพศใดเพศหนึ่งให้สูงกว่าเพศอื่น ๆ แต่เป็นการยกระดับกลุ่มชายขอบ (Marginalized groups) ให้เท่าเทียมกับกลุ่มทั่วไป เช่น การที่ผู้หญิงออกมาเรียกร้องสิทธิในร่างกายไม่ได้หมายความว่าเพศหญิงจะต้องได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าเพศอื่น แต่เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้เท่าเทียมกับกลุ่มอื่นในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
เชื่อว่าศักยภาพเป็นแรงขับเคลื่อน
ศักยภาพ ความเก่ง หรือความสามารถ เป็นเรื่องที่แยกขาดจากเพศอย่างสิ้นเชิง เพศไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าใครทำสิ่งไหนได้ดี ใครทำสิ่งไหนไม่ได้ เพราะฉะนั้นในการทำงานหรือการดำเนินชีวิตไม่ควรใช้เพศเป็นหลักเกณฑ์ในการ “วัด” คน แต่ควรใช้ความสามารถของปัจเจกแต่ละคนในการตัดสิน
สนับสนุนการจ้างงานอย่างเสมอภาค
บางครั้งการจ้างงานก็ถูกตัดสินจากเรื่องเพศ บางคนอยากจะจ้างงานเพศเดียวกันเพราะคุยกันเข้าใจมากกว่า หรืออยากจ้างเพศตรงข้ามเพราะอคติกับเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นการตัดสินโดยใช้อคติไม่ได้ตัดสินจากความสามารถ ทำให้อาจเสียโอกาสจ้างคนที่มีทักษะเข้ากับองค์กรไป แต่หากองค์กรสนับสนุนให้มีการจ้างงานคนเก่งที่ไม่กีดกันว่าต้องเป็นเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น องค์กรก็จะมีโอกาสเกิดความก้าวหน้าและผลประกอบการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่งเสียงเมื่อถูกเลือกปฏิบัติจากอคติทางเพศ
ไม่ว่าจะเป็นเราเองหรือคนรอบข้าง ทุกคนต่างก็มีโอกาสถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมจากอคติทางเพศ ดังนั้นทุกคนควรทำหน้าที่เป็นพันธมิตร (Alliance) ของกันและกัน ที่คอยช่วยเหลือและส่งเสียงเคียงข้างผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติทางเพศ แม้ว่าเรื่องนั้น ๆ หรือในสถานการณ์นั้น ๆ อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเอง แต่เราไม่ควรเมินเฉยและควรช่วยเหลือผู้เสียหายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
หลายคนเชื่อว่าการศึกษาเป็นพื้นฐานที่มนุษย์ควรได้รับ แต่ถ้าคิดให้ไกลกว่านั้นไม่เพียงแค่ได้รับเท่านั้น แต่ทุกคนควรมี “การศึกษาที่ดี” ซึ่งมาจากระบบที่ดีที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและพัฒนา ให้ครูและนักเรียนทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เฉลยข้อสอบแกนกลาง ลดความเหลื่อมล้ำ
ข้อสอบแกนกลาง เช่น TGAT/TPAT หรือการวัดความรู้ระดับประเทศส่วนใหญ่มักไม่มีการเฉลยให้แบบปีต่อปี ทำเด็กหลายคนต้องไปเรียนพิเศษในสถาบันกวดวิชา แต่ถ้ามีการผลักดันเฉลยข้อสอบแกนกลางให้เกิดขึ้นปีต่อปีได้ สิ่งที่จะตามมาคือเด็กทุกคนสามารถดูข้อสอบย้อนหลังได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียนพิเศษ สามารถฝึกฝนเองได้ ช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้น
ส่งเสริมคุณภาพสถานศึกษา
สถานศึกษาที่พร้อมสำหรับนักเรียนคือ สถานศึกษาที่ตั้งอยู่ใกล้พอที่นักเรียนจะเข้าถึง มีอุปกรณ์ครบครัน มีอาหารกลางวันครบ 5 หมู่ มีสุขอนามัย และมีการจัดการที่ดี ซึ่งแน่นอนว่าหลายพื้นที่ในประเทศยังขาดองค์ประกอบเหล่านี้ไปมากน้อยต่างกัน จึงเป็นหน้าที่ของสังคมที่จะช่วยติดตามและสนับสนุนนโยบายเพื่อเพิ่มคุณภาพสถานศึกษาให้กับสังคม
เชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพที่แตกต่างกัน
ประเทศไทยมีเยาวชนมากกว่า 3 ล้านคน ไม่มีทางเป็นไปได้ที่เยาวชนทั้งหมดจะสามารถมีแนวคิดแบบเดียวกันได้ การศึกษาจึงไม่ควรตีกรอบให้เด็กพัฒนาไปในทางเดียวกัน และเชื่อในศักยภาพที่แตกต่างของเด็กแต่ละคน
ผลักดันสวัสดิการและบทบาทครูอย่างเหมาะสม
หลายคนอาจมองว่าการเป็นครูเป็นเรื่องที่ดีเพราะมีสวัสดิการพร้อม แต่ในบางครั้งสวัสดิการที่ได้รับก็อาจไม่มีประสิทธิภาพได้ด้วยเช่นกัน อย่างสวัสดิการบ้านพัก ที่บางครั้งทรุดโทรม ขาดการดูอย่างปลอดภัย ในเรื่องบทบาทของครูเองก็มีปัญหาที่เรื้อรังมานาน อย่างภาระที่นอกเหนือจากการสอน งานธุรการ พัสดุ เอกสาร เป็นต้น ซึ่งถ้าหากสามารถแก้ไขได้จริงก็มีโอกาสจะเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการศึกษา
สร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อการเรียนรู้ที่ดี
การทำให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ที่เด็กรู้สึกว่าปลอดภัยจะช่วยเด็กให้กล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าตั้งคำถาม รู้จักตัวเองมากขึ้น เพราะฉะนั้นการมีพื้นที่ปลอดภัยจะต้องลดการต่อว่าหรือการตัดสินเด็ก ซึ่งถ้าหากระบบการศึกษาสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำเร็จ ก็จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้และทำให้เด็กเติบโตไปสู่อนาคตที่ดีได้
Human Rights ต้องไม่ “ไร้” เสียง
หลายครั้งที่เรื่องของใครคนหนึ่งหรือคนบางกลุ่มที่ถูกเอาเปรียบไม่ได้รับความสนใจเพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้ส่งผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ในสังคม หรืออาจเป็นเรื่องที่ไปกระทบกับผู้มีอิทธิพลหรือมีอำนาจ ทำให้เสียงเรียกร้องเพื่อสิทธิกลายเป็นความเงียบ จึงต้องเป็นหน้าที่ของคนในสังคมที่จะช่วยให้ประเด็นเหล่านี้ ไม่เงียบและหายไปไร้ผู้รับผิดชอบ
สนใจส่งเสริมและปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐาน
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มีสิทธิพื้นฐานที่ได้ระบุไว้หลายข้อ เช่น ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน มีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่ากัน, ไม่แบ่งแยกเพศ ศาสนา เชื้อชาติ หรือความเห็นต่างทางการเมือง, ทุกคนควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ และอีกหลายข้อที่ชวนผู้สนใจด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามาศึกษา
วิเคราะห์และตั้งคำถามจากต้นตอปัญหา
ปัญหาสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ในบางครั้งปัญหาอาจไปเกี่ยวข้องกับหลักศาสนา ปรัชญา ศีลธรรม จริยธรรม การจะได้คำตอบที่ใกล้เคียงความถูกต้องมากที่สุดอาจต้องเริ่มจากการตั้งคำถามถึงที่มาของปัญหา รวบรวมข้อมูลและนำมาวิเคราะห์ด้วยตรรกะที่ถูกต้อง
ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมโดยปราศจากอคติ
เนื่องจากกระบวนยุติเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์ได้รับความเป็นธรรม การตัดสินจึงต้องมีความชัดเจน กระจ่าง เป็นไปตามกฎหมาย
สนับสนุนให้รัฐปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2491 ถูกลงนามในฝรั่งเศส ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็น 1 ใน 48 ประเทศที่สนับสนุนปฏิญญานี้ การเป็น Active citizen ด้านสิทธิมนุษยชนจึงอาจจะต้องสนใจข้อตกลงดังกล่าว เพื่อสามารถเข้าใจและนำไปเป็นหลักการความเข้าใจที่เป็นกลาง สร้างความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกันได้