31 May 2024
Community Database: 5 ขั้นตอนสู่ฐานข้อมูลชุมชน เพื่องานชุมชนสู่สาธารณะ
Community Database: 5 ขั้นตอนสู่ฐานข้อมูลชุมชน เพื่องานชุมชนสู่สาธารณะ
Hack Gov to the Growth
link icon


Community Database: 5 ขั้นตอนสู่ฐานข้อมูลชุมชน เพื่องานชุมชนสู่สาธารณะ

ความท้าทายอย่างหนึ่งของการทำงานขับเคลื่อนชุมชนคือ ชุมชนจะทำอย่างไรให้สังคมภายนอกสนใจประเด็นหรือข้อเรียกร้องที่ชุมชนกำลังทำอยู่ และเข้าใจว่าความเดือดร้อนของคนพื้นที่หนึ่งส่งผลกระทบถึงพื้นที่อื่นด้วย ดังเช่นการขับเคลื่อนของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น อ.จะนะ จ.สงขลา ที่คัดค้านการเข้ามาเปลี่ยนทะเลที่บ้านของพวกเขาให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมด้วยโครงการภาครัฐ ทั้งที่ท้องทะเลจะนะมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 172 ชนิด สัตว์น้ำจากทะเลจะนะยังถูกส่งต่อไปอย่างหลายพื้นที่และประเทศเพื่อนบ้าน 

"บอกยังไงก็ได้ให้คนรู้ว่าสิ่งที่จะนะทำ ไม่ได้แค่เพื่อเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น สิ่งที่จะนะทำคือเขาพยายามปกป้องทรัพยากรของเรา แต่ว่ามันจะเล่ายังไง” 

นี่คือจุดเริ่มต้นการทำงานของทีม Around the room studio ที่เข้ามาทำงานกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นในการจัดทำฐานข้อมูลชุมชน หรือ Community Database ด้วยเครื่องมือ Notion แน่นอนว่า การทำงานกับข้อมูลจำนวนมากและใช้เทคโนโลยีที่ไม่คุ้นเคยเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากสำหรับชุมชน แต่ทีมก็สามารถทำให้ชุมชนสร้างและเริ่มพัฒนาฐานข้อมูลได้ด้วยตนเอง รวมทั้งต่อยอดฐานข้อมูลมาสู่การสร้างความตระหนักเรื่องทรัพยากรของทะเลจะนะแก่คนนอกพื้นที่ด้วย โดยผ่าน 5 ขั้นตอนต่อไปนี้

1. รับฟังให้ครบถ้วน: การทำฐานข้อมูลชุมชนจะช่วยให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานเกิดความเข้าใจตรงกัน เห็นเป้าหมายหรือแนวทางการทำงานร่วมกันชัดเจนขึ้น แต่ก่อนเริ่มปักธงว่าจะทำฐานข้อมูลชุมชน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนนอกพื้นที่ที่จะเข้าไปทำงานกับชุมชน หรือเป็นคนในชุมชนที่กำลังจะชวนคนอื่นมาทำ ควรเริ่มจากไปรับฟังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนว่า การทำฐานข้อมูลเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการหรือไม่ บางครั้งสิ่งที่เราเห็นว่าสำคัญ อาจไม่ใช่สิ่งที่สำคัญกับคนอื่น ๆ ก็เป็นได้ เพราะหัวใจความสำเร็จของการทำงานชุมชนคือการสร้างการมีส่วนร่วม ถ้าเห็นตรงกันว่าสิ่งที่กำลังจะทำมีความสำคัญ การทำฐานข้อมูลชุมชนหรือแม้เป็นงานอื่น ๆ ก็จะง่ายขึ้นมาก

"ข้อมูลเป็นสิ่งที่ทำให้เรามั่นใจได้ว่า สิ่งที่เค้าและเราต้องการเป็นสิ่งเดียวกันไหม คือโจทย์ต้องมาจากการที่ลงไปถาม ลงไปคลุกคลี เอาข้อมูลมาคุยให้เป็นที่ประจักษ์และรับรู้ร่วมกัน"

2. ชวนให้เห็นความสำคัญ: หนึ่งในคีย์หลักของการทำฐานข้อมูลให้ประสบความสำเร็จคือ การทำความเข้าใจความสำคัญของการมีฐานข้อมูล ซึ่งทีม Around the room studio ได้ใช้วิธีการนำข้อมูลกว่า 300 รายการ ไม่ว่าจะเป็นข่าว คลิปวิดีโอ และสื่อต่าง ๆ ที่พูดถึงเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น มาพล็อตเป็นแผนภูมิแท่ง (Bar chart) ให้เห็นว่ามีปีไหนที่สื่อออนไลน์พูดถึง’จะนะ’ค่อนข้างเยอะ เมื่อนำมาให้ชุมชนดูและแลกเปลี่ยนกัน ชุมชนก็เข้าใจได้ว่าการมีฐานข้อมูลที่ช่วยเก็บ Digital footprint ของพวกเขา จะทำให้สามารถนำมาต่อยอดเรื่องที่ชุมชนอยากเล่าให้สังคมรับรู้ได้มากขึ้น

"ข้อมูลทั้งหมด 300 รายการ เอามาพล็อตเป็นบาร์ชาร์ต เป็นจำนวนว่าในปีไหนข้อมูลเกี่ยวกับจะนะถูกเผยแพร่ออกไปบ้าง ... ทำให้เขาเห็นว่าข้อมูลโชว์อะไรบางอย่าง ... นี่แหละมันเลยเป็นเหตุผลที่ชุมชนควรจะเริ่มเก็บข้อมูล"

3.คิดให้ชัดก่อนหัดเทคโนโลยี: ก่อนนำข้อมูลของชุมชนจำนวนมากมาใส่ในฐานข้อมูล ทีม Around the room studio จะชวนชุมชนตกตะกอนความคิดให้ชัดเจนก่อนเกี่ยวกับข้อมูลที่ต้องการเรียบเรียง วัตถุประสงค์ การแบ่งหัวข้อ การแสดงผล ทางทีมจึงได้ทำ 'Toolkit โครงสร้างฐานข้อมูล' เพื่อช่วยให้ชุมชนเรียบเรียงความคิด โดยจัดระบบฐานข้อมูลที่มีลงกระดาษก่อน ส่วนเรื่องการใส่ข้อมูลลงใน Notion หรือเรื่องการนำเทคโนโลยีมาจัดทำฐานข้อมูล ทางทีมมองว่าเป็นสิ่งที่สามารถค่อย ๆ เรียนรู้และพัฒนาได้

"โฟกัสกับการคิดให้เสร็จก่อน แล้วค่อยมาทำ นั่นคือคีย์ที่เราอยากให้เค้าได้ คือการได้คิดกับตัวเองจริง ๆ ไม่ใช่มากังวลกับเทคโนโลยี เราคิดกันว่าเรื่องเทคโนโลยีเดี๋ยวเราสอนอีกหลาย ๆ ทีก็ได้ แต่เราอยากให้เค้าเข้าใจความสำคัญของข้อมูลก่อน"


4. มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม: เครื่องมือที่ทีม Around the room studio นำมาใช้ในการทำฐานข้อมูล (Database) คือ Notion ซึ่งไม่ใช่โปรแกรมที่คนทั่วไปใช้เป็นประจำ ดังนั้นทางทีมจึงนำข้อมูลของชุมชนมาสร้าง ฐานข้อมูล (Database) ขึ้นอันแรก เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เมื่อทำออกมาแล้วฐานข้อมูลจะหน้าตาเป็นอย่างไร 

"แต่ละครั้งที่สอน คนเก็ทง่ายมากขึ้น ... พอไปสอนครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 น่ะ เขาจะเห็นภาพเลย เพราะมี Database หลายตัวอย่างแล้ว เลยเห็นว่าคนสนใจจากการที่เห็นเป็นรูปธรรม"

5. ทำ Database ให้เป็น Action: หนึ่งในฐานข้อมูลของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นคือ ข้อมูลทรัพยากรทางทะเลที่มีสัตว์น้ำมากกว่า 200 ชนิด ทีม Around the room studio จึงลองนำเรื่องนี้มาต่อยอดร่วมกับศิลปินท้องถิ่นและชุมชน จนเกิดเป็นกิจกรรม 'จะนะ เกียวทาคุ (Chana-Gyotaku)' หรืองานศิลปะการบันทึกปลาด้วยภาพพิมพ์ของญี่ปุ่น ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับความสนใจและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับจะนะให้คนนอกพื้นที่ได้ รวมทั้งได้ถูกนำไปใช้เป็นกิจกรรมในโรงเรียนแล้ว จนเรียกได้ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำฐานข้อมูลไปใช้จนประสบความสำเร็จ 

เมื่อโจทย์มาจากชุมชน แล้วชุมชนเห็นความสำคัญร่วมกันในการทำฐานข้อมูลชุมชน เพื่อพัฒนาการทำงานให้เข้าถึงคนนอกพื้นที่มากขึ้น การเริ่มต้นทำฐานข้อมูลชุมชน หรือ Community Database ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกชุมชนอย่างแน่นอน


AUTHOR
Suwipa Treesuntornrat
Suwipa Treesuntornrat
ส่งเสริมธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชันอย่างทันสมัย
PHOTOGRAPHER
KHANA
KHANA
สร้างพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ผ่านทุนสนับสนุนและเครือข่ายการทำงาน