จากผลสำเร็จของโครงการ Big Open Data โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ได้จัดทำแพลตฟอร์มข้อมูลเปิดสาธารณะ เช่น ACT AI ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้ เกิดการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน สังคมเกิดความโปร่งใส ตลอดจนเกิดเป็นกลไกการรับผิดชอบในสังคม
ACTkathon มีที่มาอย่างไร
โครงการระดมพลังทุกภาคส่วนสร้างนวัตกรรมต่อต้านคอร์รัปชันด้วยข้อมูลเปิด (ACTkathon) เป็นการจัดกิจกรรม Anti-Corruption Hackathon ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ให้สังคมในการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยการแข่งขัน Anti-Corruption Hackathon องค์กรจะคัดเลือกทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันมานำเสนอแนวคิด เครื่องมือ หรือกลไก พร้อมระบบต้นแบบที่เป็นนวัตกรรมต่อต้านคอร์รัปชันด้วยข้อมูลเปิดให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างผลประโยชน์ และสร้างความโปร่งใสให้กับสังคมได้จริง
โครงการมีเป้าหมายเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนในการร่วมเป็นผู้ออกแบบและพัฒนานวัตกรรมด้วยข้อมูลเปิดขนาดใหญ่ที่สามารถสร้างความโปร่งใสในสังคมและเป็นประโยชน์ในการต่อต้านคอร์รัปชัน
การแข่งขัน Hackathon คืออะไร?
Hackathon เกิดจากการรวมกันของคำว่า Hack ที่หมายถึง การสร้างสิ่งใหม่ และคำว่า Marathon ที่หมายถึง การทำงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดพักในระยะเวลาอันสั้น เหมือนกับการแข่งขันวิ่งมาราธอน เมื่อรวมกันแล้วเกิดเป็นความหมายใหม่คือ การสร้างสิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ เป็นกิจกรรมการแข่งขันเพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมใหม่ภายใต้โจทย์ที่ได้รับ (Themes) ภายในระยะเวลาจำกัดตามที่ผู้จัดงานกำหนด เช่น 12-48 ชั่วโมง ผู้เข้าแข่งขันจะต้องสร้างสรรค์ผลงานภายในเวลาที่กำหนด ทำการแข่งขัน Hackathon มีความเข้มข้นและดุเดือด (วิลาสิณี ฉายรัตน์ตระกูล, 2563)
ACTkathon จะแก้ปัญหาคอร์รัปอย่างไร
กิจกรรมการแข่งขัน Anti-Corruption Hackathon เป็นการระดมพลังทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมกันสร้างนวัตกรรมต่อต้านคอร์รัปชันด้วยข้อมูลเปิด โดยการแข่งขันพัฒนาเครื่องมือต่อต้านคอร์รัปชันนี้จะร่วมกับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกไปต่อยอดเพื่อให้เกิดนวัตกรรมต่อต้านคอร์รัปชันที่ประชาชนสามารถใช้ได้จริง ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์จาก ACTkathon คือทุกภาคส่วนและประชาชนในสังคมไทย
โดยโจทย์ในการแข่งขัน ACTkathon คือ Problem Statement ที่ว่า “ทำอย่างไรให้เราสามารถใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีในการเพิ่มความโปร่งใสและสร้างการมีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล?” (How might we use data and technology to increase transparency and public participation in government spending?) ผู้เข้าร่วมแข่งขันจะต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน และได้มีโอกาสในการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก เช่น ข้าราชการ นักวิชาการ องค์กรที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อพัฒนาระบบและขยายผลนวัตกรรม
การขยายผลสู่ความยั่งยืน
การแข่งขัน ACTkathon เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ร่วมคิดและทดลองสร้างเครื่องมือนวัตกรรมต่อต้านคอร์รัปชันในมุมมองของพวกเขาเอง จึงเป็นการเพิ่มผู้เล่นเข้ามาในระบบการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นจำนวนมาก และเป็นผู้เล่นที่มีคุณภาพ เนื่องจากกิจกรรมการแข่งขัน ACTkathon มีการเสริมสร้างความรู้และเพิ่มประสบการณ์ในการลงมือทำ ทั้งได้เปิดโอกาสให้พบกับภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันที่อาจสร้างความร่วมมือกันในอนาคต