01 Apr 2024
รักษ์ทะเลไทย ร่วมใส่ใจธรรมาภิบาลทางทะเล
รักษ์ทะเลไทย ร่วมใส่ใจธรรมาภิบาลทางทะเล
ปลูกฝัง
link icon

วิกฤติทะเลไทย

จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นบวกกับเทคโนโลยีที่พัฒนาไปไกล ทำให้ความสามารถในการเก็บเกี่ยวทรัพยากรประมงเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันทรัพยากรประมงที่มีอยู่กลับเสื่อมโทรมและลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเครื่องมือประมงประเภททำลายล้าง เช่น อวนรุน อวนลาก เรือไฟปั่นปลากะตัก และการระเบิดปลา ที่ทำให้จับสัตว์น้ำได้มากเกินศัพยภาพในการฟื้นฟูของธรรมชาติ 


รายงานสรุปข้อมูลสถิติการประมงของกรมประมง พบว่า ปริมาณสัตว์น้ำเค็มที่จับได้จากธรรมชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2542 - 2560 มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2560 มีปริมาณสัตว์น้ำเค็มที่จับได้ลดลงจากปี พ.ศ. 2541 ถึงร้อยละ 52 สะท้อนให้เห็นถึงความน่ากังวลของวิกฤติทะเลไทยที่เสื่อมโทรมลงในทุกวัน


ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลส่งผลกระทบต่อชุมชนและสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะการเขาถึงแหล่งอาหารโปรตีนที่มีคุณค่าและปลอดภัยต่อสุขภาพ ตลอดจนความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากการใช้เครื่องมือลากอวนที่ทันสมัยและทำการประมงอย่างเสรีจนรุกล้ำน่านน้ำของประเทศอื่น หลายประเทศจึงออกกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำการประมงข้ามเขตน่านน้ำ และส่งผลต่อเนื่องสู่การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม และไร้การคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย


สถานการณ์การประมงพื้นบ้าน

เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าเรือประมงทั้งหมดของไทยส่วนใหญ่เป็นเรือประมงพานิชย์ ส่วนเรือประมงพื้นบ้านมีเพียงไม่ถึงร้อยละ 10 และสถิติปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ของเรือประมงพื้นบ้านก็มีจำนวนลดลงอย่างน่ากังวล จากเดิม 13 ตันต่อปี เหลือเพียง 3 ตันต่อปีเท่านั้น


หากจะบอกว่าการทำประมงของชุมชนพื้นบ้านมีการจัดการผลผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้ผลผลิตในตลาดส่วนใหญ่มาจากพ่อค้าคนกลางหรือนายทุนมากกว่าผลผลิตที่มาจากประมงพื้นบ้าน นั่นก็เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของชาวประมงตลอดจนพื้นที่ทำการประมงที่ทำให้สัตว์น้ำมีจำนวนลดลง และเทคโนโลยีของประมงพื้นบ้านเองที่ไม่ทันสมัยเท่ากับประมงพานิชย์


จากสถานการณ์สัตว์น้ำลดลง พื้นที่ประมงถูกจำกัด ประสิทธิภาพในการแปรรูปสินค้า ต้นทุนที่สูงขึ้น การหาตลาดในการขายสินค้า ส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้ลดลง กระทบต่อการใช้ชีวิต เกิดปัญหาหนี้สิน การย้ายถิ่นฐานทำงาน และเกิดปัญหาสังคมตามมา


ถึงเวลาต้องส่งเสริมธรรมภิบาลการจัดการทรัพยากรทางทะเลแล้วหรือยัง

สมาคมรักษ์ทะเลไทยเชื่อว่าการที่จะประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและชุมชนในพื้นที่ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างมี

ธรรมาภิบาลที่ดี


‘โครงการส่งเสริมธรรมาภิบาลด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลร่วมกันระหว่างภาครัฐและชุมชน

มุ่งเน้นให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกลไกทางกฎหมายและนโยบายที่สำคัญ และมีส่วนร่วมในการดูแลบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลในเขตพื้นที่ชุมชนของตัวเอง นอกจากนี้โครงการยังผลักดันให้เกิดการกำหนดเขตอนุรักษ์ทางทะเลในพื้นที่ต่าง ๆ โดยให้สมาชิกในชุมชนร่วมกันกำหนดและดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ ที่สำคัญคือการประสานความร่วมมือกับภาครัฐและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการกำหนดเขตอนุรักษ์และกติกาชุมชนให้ได้รับการรับรองเป็นประกาศหรือข้อบัญญัติที่มีผลทางกฎหมาย ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล


ไม่เพียงแค่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเท่านั้น โครงการมีการดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐฏกิจชุมชน ควบคู่กับการพัฒนาระบบการผลิตและแปรรูป โดยพัฒนาให้ชุมชนเป็นผู้ประกอบการเพื่อยกระดับรายได้ให้คนในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากรายได้ที่มั่นคง โดยไม่ละเลยการกำหนดตัวชี้วัดและพัฒนาระบบการติดตามจัดเก็บข้อมูลที่มีความโปร่งใส และสามารถขยายผลไปสู่ชุมชนรอบข้างได้


จะสร้างธรรมาภิบาลทางทะเลที่ไหนบ้าง

กลุ่มพื้นที่เป้าหมายชุมชนประมงพื้นบ้าน ได้แก่

  • บ้านสะเตะ ต.สะเตะ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง
  • บ้านบ่นนท์ ต.ท่าศาบา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
  • บ้านตะเคียนดำ ต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
  • บ้านบ่อแดง อ.สทิงพระ จ.สงขลา
  • บ้านคลองขุด ต.หารโพธิ์ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง
  • บ้านหลอมปืน ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล
  • บ้านคันธุลี ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี
  • บ้านบ่อเจ็ดลูก ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล
  • บ้านเกาะปู ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่
  • บ้านทุ่งน้อย ต.เขาแดง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์


สร้างธรรมาภิบาลทางทะเลได้อย่างไร

สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการเขตพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเพื่อความยั่งยืนในอนาคต โดยจัดกระบวนการกลุ่มในการทำความเข้าใจโครงการผ่านการเรียนรู้กรณีศึกษาจากพื้นที่อื่น ๆ นำมาถอดบทเรียนร่วมกันเพื่อหาแนวทางจัดทำเขตอนุรักษ์ของชุมชน จากนั้นให้ชุมชนร่วมกันออกแบบแนวทางหรือกติกา และขอบเขตการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลที่สอดคล้องกับพื้นที่และภูมิปัญญาชุมชน


นอกจากนี้ยังมีการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือในการผลักดันแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลให้ได้รับการรับรองทางกฎหมาย อีกทั้งปรึกษากับภาคส่วนวิชาการเพื่อศึกษาตัวชี้วัดทางการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ และออกแบบการสื่อสารของชุมชนเรื่องเขตอนุรักษ์ทางทะเลสู่พื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจถึงสถานการณ์ปัญหาของชาวประมงพื้นบ้านและวิกฤติทะเลไทย โดยคาดหวังว่าคนในสังคมจะได้มีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรร่วมกับชาวประมงพื้นบ้านด้วย


ความสำเร็จของโครการ

สำหรับพื้นที่กลุ่มเป้าหมายที่ได้ดำเนินโครงการไปแล้ว สมาชิกในชุมชนจะเกิดการตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของโครงการ เช่น เมื่อมีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล จะทำให้ประมงพื้นบ้านสามารถจับสัตว์น้ำได้มากกว่าตอนที่ทรัพยากรเสื่อมโทรม อีกทั้งรู้จักการเป็นผู้ประกอบการ ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับชุมชนในเรื่องการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน


นอกจากนี้โครงการยังมีการวัดผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงตามตัวชี้วัด SDGs ในข้อ 14 การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้นำมาสังเคราะห์เป็นตัวชี้วัด 3 มิติ ดังนี้

1. การกำหนดขอบเขตพื้นที่อนุรักษ์

2. ผลกระทบต่อธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ ขนาดและจำนวนสัตว์น้ำ/พืชน้ำ

3. ผลกระทบต่อชุมชน ทั้งทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิต และในอนาคตคาดว่าจะมีการต่อยอดเพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติมโดยได้รับความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม


AUTHOR
Raktalaethai
Raktalaethai
ส่งเสริมธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชันอย่างทันสมัย
PHOTOGRAPHER
Raktalaethai
Raktalaethai
สร้างพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ผ่านทุนสนับสนุนและเครือข่ายการทำงาน